‘แสง’ สร้างเมือง ส่องอนาคตเกาะรัตนโกสินทร์

แสงสว่างที่ดีสำหรับทุกคน คือความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง

ในวันที่มนุษย์สามารถคิดค้นวิธีการสร้างแสงด้วยตัวเอง โลกนี้ก็ไม่มืดมิดอีกต่อไป ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงระดับสังคม อีกด้านหนึ่ง “แสงในเมือง” ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสะท้อนความศิวิไลซ์ ความเจริญ และความปลอดภัยของผู้คน

Writen by พิชญาพร โพธิ์สง่า

ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC – Lighting Research and Innovation Center) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ESIC – ESIC Edutainment & Socio-Interaction Computing LAB  คณะวิศวกรรมศาสตร์ Creative and Learning Society Research Cluster มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดทำ โครงการการศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์ยามค่ำคืนของชุมชนเมืองเก่าแบบมีส่วนร่วมกรณีศึกษาย่านเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐและเอกชน ตัวแทนองค์กรวิชาชีพ ศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิทัศน์ และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเมืองเก่าและเมืองท่องเที่ยว

นำเสนอแนวทางการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการส่องสว่าง ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ร่วมกับหลักทางวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ รวมทั้งการใช้อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง Internet of Thing (IoT) ที่สามารถเชื่อมโยงเทคโนโลยีและอุปกรณ์ควบคุมต่าง ๆ เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และเสริมสมรรถนะความฉลาดล้ำรองรับความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Internet of Things – IoT) หวังส่งเสริมอัตลักษณ์ของเมืองเก่าและย่านให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความสวยงาม ปลอดภัย และดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพที่สนใจวิถีชีวิตศิลปะวัฒนธรรม

พร้อมมองแนวทางการจัดเทศกาล Light art festivals งานเทศกาลศิลปะ รวมถึงงานพัฒนาพื้นที่ในมุมเมืองต่าง ๆ เพื่อช่วยสร้างศักยภาพในของชุมชนให้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่เมือง และสร้างความเข้มแข็งในการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนเมืองในการที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในภาพใหญ่ได้อย่างยั่งยืน

แสงส่องทาง สู่เมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ผศ.ดร. จรรยาพร สไตเลอร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าว่า คนมากรุงเทพฯ ยังไงก็ต้องมาเกาะรัตนโกสินทร์ หากมีเวลาก็ต้องมาลงเรือ เราเห็นศักยภาพในพื้นที่ แต่พบว่าการออกแบบแสงสว่างยังคงเป็นปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญ แลนด์มาร์คสำคัญ หลายจุดตกแต่งด้วย หลอดไฟ LED ซึ่งอันที่จริงแล้วสามารถทำให้ดีกว่านี้ได้อีกมาก อีกสิ่งที่น่าเสียดายคือในเมืองไทยก็ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของอาชีพนักออกแบบแสง หรือ lighting designer ไม่ใช่ว่าสาขาวิชาชีพนี้ไม่มีความสามารถ แต่ไม่ค่อยมีใครเห็นความสำคัญ โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะไม่มีการออกแบบโดยการมีส่วนร่วมของนักออกแบบแสงโดยตรง หากจะมีก็น้อยมาก

“ที่เราพูดว่ารัฐอยากจะมีเป้าหมาย อยากได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และถ้านักท่องเที่ยวอยู่เพิ่มอีกเพียงหนึ่งคืน เงินจะเพิ่มเข้ามาในกระเป๋าคนไทย มหาศาล หากมีการออกแบบแสงที่ดีเมืองน่าอยู่ก็จะเป็นประโยชน์ในเรื่องการท่องเที่ยวชัดเจน อย่างที่สองคือคนที่อยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์เอง ก็มีวีถีชีวิตของเขา ถ้าเราอยากผลักดันให้คนเดินมากขึ้น ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก การมีแสงสว่างทำให้คนรู้สึกว่าเดินได้และในระหว่างทางมีอะไรสวยงามให้ดู ร้านค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ ริมถนน ก็จะได้ประโยชน์ด้วย ก็จะช่วยเศรษฐกิจชุมชน ภาพใหญ่ และภาพลักษณ์ของเมืองไทยก็จะดูดี

ผศ.ดร. จรรยาพร หวังว่า ปลายทางของโครงการนี้จะนำไปสู่การตกผลึกให้เห็นกระบวนการของการพัฒนาเรื่องการออกแบบติดตั้งแสงในเมืองเก่า เพราะฉะนั้นจะไม่จบแค่เกาะรัตนโกสินทร์ แต่หมายถึงการนำบทเรียนและวิธีการไปใช้พัฒนากายภาพของเมืองอื่น ๆ ได้

For more information :

https://theactive.net/read/urban-lighting-masterplan/