The Changing Form of Workplace and Its Future

Explore the Workplace Design since its early day and find out where does the workplace design head toward today. Designs interpret the relationship between organization, people and space. Current workplace design direction considers about workplace agility, also challenging for Interior Designer to design workplace that meets the needs for the future.

This article was written by AJ. Chanida Lumthaweepaisal (SoA+D Interior Architecture alumna#10), Master’s degree in Interior Architecture from Sandberg Institute, Amsterdam, Netherlands. After graduation she spent one-year practice as an interior designer at Studio Makkink & Bey Rotterdam. Currently, AJ. Chanida works as a lecturer in the Interior Architecture program at SoA+D, KMUTT. 

วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรในปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การออกแบบ‘พื้นที่การทำงาน’ เป็นการตีความความสัมพันธ์ระหว่าง กลยุทธ์องค์กร (Organization Strategy) คน (People) และพื้นที่ (Space) ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว จุดเริ่มต้นของการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ คือ สำนักงานแบบผังเปิดโล่ง (Open-plan Office) ในยุค 40’ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการจัดพื้นที่การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแบบ Taylorism เหมาะสำหรับองค์กรที่มีพนักงานจำนวนมาก และทุกคนทำงานเหมือนกัน โต๊ะทำงานของทุกคนเรียงรายอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้หัวหน้างานสามารถสอดส่องการทำงานของพนักงานได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างเช่น สำนักงาน The Johnson Wax Company และ Larkin Administration Building

แล้วทิศทางการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Workplace Agility เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในการทำงานขององค์กรต่างๆ Workplace Agility หมายถึง ความคล่องแคล่วหรือความคล่องตัวของสถานที่ทำงาน ที่ตอบสนองต่อกลยุทธ์การทำงานแบบใหม่ที่มีเงื่อนไขของเวลา และคุณภาพของผลงานเป็นตัววัดผล ในสถานการณ์ของโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น และเทคโนโลยีช่วยเหลือการทำงานต่างๆ ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด Agility หรือ Agile Methodology คือ รูปแบบการทำงานที่เน้นการปรับปรุง และตอบสนองต่อแผนงานอย่างรวดเร็ว เป็นวงจรการทำงานแบบสั้นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องกับกลุ่มการทำงานย่อยภายในองค์กร ซึ่งหลายองค์กรนำมาใช้เพื่อทำให้การทำงานมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานแบบ Agility ได้ฉีกกฎวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรแบบดั้งเดิม ที่ทุกอย่างต้องเป็นขั้นตอนและมีลำดับชั้น (Hierarchy) ให้เป็นการทำงานที่เน้นการสื่อสารระหว่างคนในองค์กรในระดับย่อย, เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและลูกค้า การวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ในองค์กรต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างขององค์กรที่มีการออกแบบสำนักงานให้สอดคล้องกับการทำงานแบบ Agility เช่น สำนักงาน IDEO สาขา Cambridge ที่ออกแบบพื้นที่สำนักงานให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับคนในองค์กร มีพื้นที่สำหรับการทำงานด้วยการลงมือทำ และเอื้อให้เกิดการสื่อสารของคนในองค์กรระดับย่อย ซึ่งตอบสนองกับกลยุทธ์การทำงานแบบ ‘Design Thinking’ ขององค์กร อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ สำนักงานใหญ่ Airbnb San Francisco กับแนวคิดหลัก ‘Belong Anywhere’ ที่สามารถสะท้อนออกมาในการออกแบบสำนักงานได้เป็นอย่างดี โดยการทำงานสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ได้ภายในสำนักงาน มีการออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์การทำงานที่หลากหลาย และมีการเพิ่มพื้นที่สันทนาการเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีทำให้คนในองค์กรมีความสุข สนุกกับการทำงาน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

Agile Methodology มีบทบาทเด่นชัดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 จากการเกิดขึ้นของ Co-Working Space ที่เป็นการแบ่งพื้นที่ทำงานแบบชั่วคราวสำหรับองค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็กหรือแม้แต่ระดับบุคคล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามองค์กร ส่งผลให้ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่เคยกระจุกตัวอยู่ในตึกสูง มีความเป็นทางการ พนักงานนั่งทำงานอย่างพร้อมเพรียง ถูกกระจายตัวออก (Decentralized) จากจุดศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District) เกิดเป็นกลุ่มการทำงานที่เล็กลง มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายและใกล้ชิดกันมากขึ้น WeWork เป็นตัวอย่างของ อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) ในรูปแบบของ Co-Working Space ที่มีการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน และส่งเสริมให้คนมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน นอกเหนือจากการเป็นสถานที่ทำงานแล้ว WeWork ยังเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ของคนในสังคมเมืองอีกด้วย

แม้ว่า Workplace Agility ไม่สามารถเป็นคำตอบสุดท้ายของกลยุทธ์การทำงานของทุกองค์กร แต่เราสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรได้ทดลองสิ่งใหม่ และอาจนำไปสู่ทิศทางของการออกแบบที่น่าสนใจในลักษณะอื่นๆ ขณะนี้เราเดินทางมาถึงยุคของการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่า ‘พื้นที่การทำงาน’ กลายเป็นที่ไหนก็ได้ เราย้ายที่ทำงานจากโต๊ะในสำนักงานกลับมาใช้โต๊ะที่บ้าน เราทำงานกับเพื่อนร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ คำถามคือ เรายังต้องการพื้นที่ที่ถูกออกแบบสำหรับการทำงานโดยเฉพาะอยู่หรือไม่ และทิศทางของการออกแบบจะเป็นอย่างไร วัฏจักรของ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่แปรผันตามสังคมและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า นอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว สุขภาวะของคนทำงานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม การออกแบบพื้นที่ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่คงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ‘คน’ และ ‘พื้นที่’ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักออกแบบในทุกยุคทุกสมัย และเป็นใจความสำคัญของการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ในอนาคต

For more information :

https://art4d.com/2021/05/the-changing-of-workplace?fbclid=IwAR0qGIewSEolSSuhdaCt0XvIe5IdMtgV4MLvB5R3RlMa5vwkH-Rj_COUUoA